บทความนี้เรามีข้อมูลฉบับอัพเดทล่าสุดที่น้อง ๆ นักเรียน ม.ปลาย ทุกคน จำเป็นที่จะต้องรู้ เกี่ยวกับการสอบ TGAT มาฝากกันค่ะ ทั้งนี้ก็เพื่อให้น้อง ๆ ของพี่สามารถคว้าคะแนนสอบได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ และได้เข้ามหาวิทยาลัยในฝันกันแบบเชิ่ด ๆ … เรื่องไหนที่น้อง ๆ ยังสงสัย อะไรที่น้องยังอยากรู้ รวมไปถึง How to เตรียมตัวก่อนสอบ TGAT มัดรวมไว้ที่นี่แล้ว ตามไปดูพร้อมกันได้เลยค่ะ!!


เรื่องต้องรู้ก่อนสอบ TGAT

เชื่อว่าน้อง ๆ คงคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า TGAT กันมาพอสมควรแล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าความจริงแล้วเจ้าข้อสอบนี้คืออะไร รูปแบบข้อสอบเป็นแบบไหน แล้วคะแนนที่ได้จากการสอบ TGAT สามารถใช้ยื่นเข้าคณะ/มหาวิทยาลัยอะไรได้บ้าง แล้วถ้าอยากได้คะแนนในสนามสอบนี้เยอะ ๆ ต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร หรือน้องคนไหนที่กำลังสับสนงงงวยเริ่มต้นไม่ถูก รู้แค่ว่าต้องสอบนอกนั้นไม่รู้อะไรเลย! เพื่อความกระจ่างในทุกประเด็นที่สงสัย ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเจ้าข้อสอบที่ชื่อว่า TGAT กันก่อนดีกว่าค่ะ สำหรับคำว่า TGAT นั้นย่อมาจาก Thai General Aptitute Test เป็นข้อสอบที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปจากข้อสอบอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคย โดย TGAT จะเป็นข้อสอบที่ออกมาเพื่อวัดความเข้าใจในเชิงลึกในด้านต่าง ๆ กล่าวคือ ไม่ใช่แค่รู้แบบผิวเผิน ไม่ใช่แค่รู้แบบจำเขามา แต่ต้องเข้าใจและนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็น


ข้อสอบ TGAT จะแบ่งออกเป็น 3 พาร์ตหรือ 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1. การสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Communication)
2. การคิดอย่างมีเหตุผล (Critical and Logical Thinking)?
3. สมรรถนะการทำงานในอนาคต (Future Workforce Competencies)

ซึ่งการจะพิชิตคะแนนสอบ TGAT ให้ได้สูงตามเป้าทุกพาร์ตนั้น บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายามค่ะ ทั้งนี้น้อง ๆ สามารถจัดลำดับการทำข้อสอบได้ตามความถนัดและความพึงพอใจเลยค่ะ จะเริ่มทำพาร์ตไหนก่อนหรือหลังก็ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้คะแนนยื่นในทุกพาร์ต ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละคณะและมหาวิทยาลัย ข้อดีก็คือหากน้องรู้ตัวก่อนและมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วว่าจะเข้าคณะไหน มหาวิทยาลัยอะไร น้องก็จะรู้หลักเกณฑ์ข้อกำหนดในการยื่นคะแนน และเตรียมตัวได้ถูกว่าต้องเน้นย้ำที่พาร์ตใดเป็นพิเศษ ไม่ต้องเสียเวลาอยู่กับพาร์ตที่ไม่ได้นำคะแนนมาใช้ยื่น อย่างไรก็ตามแนะนำว่าควรทำให้ครบและมั่นใจในทุกพาร์ตของข้อสอบจะดีกว่าค่ะ เพื่อไม่ให้เสียคะแนนไป และป้องกันในกรณีที่น้องอาจจะเปลี่ยนใจอยากเข้าคณะอื่นก็จะได้สามารถนำคะแนนไปใช้ยื่นได้


โครงสร้างข้อสอบ TGAT

ข้อสอบ TGAT จะแบ่งออกเป็น 3 พาร์ต หรือ 3 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้



1. TGAT พาร์ต 1 การสื่อสารภาษาอังกฤษ

ข้อสอบในส่วนนี้จะเน้นไปที่เรื่องของการสื่อสารภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน โดยเป็นข้อสอบแบบปรนัย 4 ตัวเลือก แบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วน คือ ข้อสอบเพื่อวัดทักษะการพูด 30 ข้อ และข้อสอบวัดทักษะการอ่าน 30 ข้อ รวมทั้งหมด 60 ข้อ คะแนนเต็ม 100 คะแนน

ทักษะการพูด 30 ข้อ

  • การถาม–ตอบ (Question-Response) 10 ข้อ
  • เติมบทสนทนาแบบสั้น (Short conversations) 10 ข้อ
  • เติมบทสนทนาแบบยาว (Long conversations) 10 ข้อ

ทักษะการอ่าน 30 ข้อ

  • เติมข้อความให้สมบูรณ์ (Text completion) 15 ข้อ
  • อ่านจับใจความ (Reading comprehension) 15 ข้อ


2. TGAT พาร์ต 2 การคิดอย่างมีเหตุผล

ข้อสอบในส่วนที่ 2 นี้ จะเน้นวัดทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ เน้นวัดเรื่องของความเข้าใจ โดยข้อสอบจะเป็นรูปแบบปรนัย มี 5 ตัวเลือก รวมทั้งหมด 80 ข้อ จำกัดเวลาสอบ 90 นาที คะแนนเต็ม 100 คะแนน

  • ความสามารถทางภาษา (ภาษาไทย) 20 ข้อ
  • ความสามารถทางตัวเลข (คณิตศาสตร์) 20 ข้อ
  • ความสามารถทางมิติสัมพันธ์ (คณิตศาสตร์) 20 ข้อ
  • ความสามารถทางเหตุผล (ภาษาไทย + คณิตศาสตร์) 20 ข้อ

3. TGAT พาร์ต 3 สมรรถนะการทำงาน

ข้อสอบในส่วนนี้ถูกออกขึ้นมาเพื่อประเมินเรื่องทัศนคติ โดยการตอบคำถาม จะมีทั้งแบบเลือกตอบ 1 คำตอบ หรือ เลือกตอบแบบหลายคำตอบ ทั้งนี้ในทุกคำตอบจะมีคะแนนตั้งแต่ 0-1 คะแนน เป็นข้อสอบแบบปรนัย มี 4 ตัวเลือก รวมทั้งหมด 60 ข้อ จำกัดเวลาสอบ 90 นาที คะแนนเต็ม 100 คะแนน

  • การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม 15 ข้อ
  • การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน 15 ข้อ
  • การบริหารจัดการอารมณ์ 15 ข้อ
  • การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมของสังคม 15 ข้อ


คณะ/มหาวิทยาลัยใดที่ใช้คะแนน TGAT ได้บ้าง

ต้องบอกว่าสำหรับเด็ก TCAS66 เกือบทุกคณะจะต้องใช้คะแนน TGAT ในการยื่นสมัคร ดังนั้นแนะนำว่าให้น้อง ๆ ลองหาข้อมูลจากคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องการสมัครเข้าศึกษาต่อว่าต้องใช้คะแนน TGAT หรือไม่ ใช้ในสัดส่วนเท่าไหร่ หรือเน้นคะแนนสอบพาร์ตไหนเป็นพิเศษ แต่เพื่อความชัวร์พี่แนะนำว่าทำทุกพาร์ตให้ได้คะแนนดีที่สุดไว้ก่อนย่อมดีกว่าแน่นอนค่ะ


ทริคเติมความฟิต พิตชิตคะแนน TGAT

สิ่งที่น้อง ๆ อยากรู้ที่สุดคงจะหนีไม่พ้นเทคนิคหรือทริคในการพิชิตคะแนนสอบ TGAT ใช่ไหมคะ ในฐานะรุ่นพี่ที่เคยผ่านการสอบมาอย่างโชกโชนจนเชี่ยวชาญนั้น พี่ก็มีทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ มาบอกต่อให้ได้รู้โดยทั่วกัน แล้วไปโกยคะแนนสอบ TGAT ด้วยกันเลยจ้า

  • เพิ่มคลังคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้กับตัวเอง
แม้ว่าข้อสอบ TGAT จะมีความแตกต่างจากข้อสอบอื่น ๆ ตรงที่ต้องนำเอาความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกที่สุด แต่สำหรับในพาร์ตของภาษาอังกฤษก็ยังจำเป็นต้องอาศัยในเรื่องของการท่องจำคำศัพท์ต่าง ๆ เพราะหากไม่รู้ความหมายของคำศัพท์ที่เจอในข้อสอบ ก็ยากต่อการหาคำตอบที่ถูกต้อง พี่จึงอยากแนะนำให้น้อง ๆ หมั่นเพิ่มคลังคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้กับตัวเอง โดยวิธีการนั้นก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน อาจจะจดจำคำศัพท์ต่าง ๆ จากการอ่านหนังสือ การอ่านจากข้อสอบเก่า ๆ หรืออาจจะเป็นการศึกษาคำศัพท์ใหม่ ๆ จากการดูภาพยนตร์หรือฟังเพลงก็ได้

  • สรุปและทบทวนเนื้อหา
การทำสรุปเนื้อหาจะช่วยให้น้อง ๆ สามารถมองเห็นภาพรวม ได้เน้นในเนื้อหาส่วนที่สำคัญ ๆ ทั้งยังช่วยให้สมองของเราสามารถจดจำได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อให้ง่ายต่อการนำกลับมาอ่านทบทวนในภายหลัง ไม่ต้องมานั่งเริ่มอ่านใหม่ทั้งหมด พี่แนะนำว่าให้น้อง ๆ ใช้ปากกาที่มีสีสันแตกต่างกันมาใช้เพื่อจดสรุปแต่ละประเด็น หรือใช้ไฮไลท์ในจุดที่ต้องการเน้นย้ำ วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากอ่านและช่วยเรียงลำดับความคิดได้อย่างดีทีเดียวค่ะ

  • ออกไปติวกับเพื่อน
อ่านหนังสืออยู่บ้านคนเดียวก็อาจจะทำให้เหงา ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย หรือหมดไฟในการอ่านได้ เพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจและเพิ่มความสนุกให้กับการเตรียมความพร้อมในการสอบ TGAT แนะนำให้ลองหาเวลาออกไปติวกับเพื่อน ๆ หรือรุ่นพี่ที่เคยผ่านสนามสอบมาแล้วดู วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้เราได้ทบทวนเนื้อหาแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับเพื่อนคนอื่น ๆ ด้วย เพราะ แต่ละคนย่อมมีความถนัดที่ต่างกันออกไป ในจุดที่เราไม่เข้าใจก็สามารถถามเพื่อนหรือรุ่นพี่เพื่อให้ประหยัดเวลาในการหาคำตอบด้วยตัวเองได้

  • ฝึกทำข้อสอบเก่า
การฝึกทำข้อสอบปีเก่า ๆ จะช่วยทำให้น้อง ๆ ได้เห็นข้อสอบในลักษณะต่าง ๆ ได้ลงมือลองทำจริง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีและรุ่นพี่ยืนยันมาแล้วว่าได้ผลมาก ๆ เพราะข้อสอบที่มีนำมาใช้ออกสอบมักจะมีความคล้ายคลึงกัน ถึงจะไม่ได้ตรงเป๊ะแต่เมื่อได้ลองทำเราก็จะได้เรียนรู้วิธีคิด เมื่อถึงเวลาสอบจริงหากเจอข้อสอบที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันก็มีโอกาสที่เราจะหาคำตอบที่ถูกต้องได้ง่ายกว่า ข้อดีอีกอย่างของการฝึกทำข้อสอบเก่า ๆ คือ ช่วยให้น้องได้ประเมินจุดอ่อนของตัวเอง และยังได้ประเมินเวลาเฉลี่ยที่ใช้สำหรับการทำโจทย์แต่ละข้อ เมื่อรู้แล้วก็จะได้นำมาปรับปรุงและแก้ไขให้ดีขึ้นก่อนลงสนามสอบจริงได้นั่นเองค่ะ



  • เรียนพิเศษกับพี่ ๆ ติวเตอร์
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่อยากเพิ่มความมั่นใจ อยากรู้วิธีการแก้โจทย์ยากให้กลายเป็นโจทย์ง่าย หรืออยากรู้เทคนิคการทำข้อสอบที่หลากหลายกว่าการเรียนในชั้นเรียน อยากแนะนำให้ลองเปิดใจมาลงเรียนพิเศษกับพี่ ๆ ติวเตอร์ของเราดูนะคะ สอนสนุก ไม่น่าเบื่อ ที่สำคัญเก็บครบทุกประเด็น สงสัยตรงไหนถามได้ทันที แถมราคาก็สบายกระเป๋าเอาใจคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านอีกด้วยค่ะ