สวัสดีค่ะน้อง ๆ ช่วงนี้มีคำถามเกี่ยวกับอาชีพถามพี่มาเยอะมาก โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่ชอบตัวเลขและวางแผนอยากเรียนเกี่ยวกับบัญชี คำถามยอดฮิตคือ เรียนจบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้าง ??วันนี้พี่สรุปมาให้น้อง ๆ แล้ว แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งนะคะ อย่างที่พี่เคยบอกตลอด เมื่อเราเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยแล้วมีความรู้แล้ว เราสามารถนำความรู้ไปประยุกต์และต่อยอดสิ่งต่าง ๆ ได้อีกมากมายตามที่ใจเราต้องการ แต่ส่วนใหญ่น้อง ๆ ที่เรียนจบบัญชีสามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง ตามพี่ไปดูกันเลยค่ะ


ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor)

ผู้ตรวจสอบบัญชีก็ตรงตัวเลย อาชีพนี้หน้าที่คือคอยตรวจสอบบัญชี ดูความถูกต้อง รับรองความถูกต้อง ความถูกต้องในการทำบัญชี รวมไปถึงเอกสารทางการเงินต่าง ๆ มีหน้าที่ดูตัวเลขทางบัญชีและเซ็นเอกสารรับรองบัญชีของบริษัทต่าง ๆ และถ้าใครที่มีความสามารถจนสามารถสอบไปเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) โอกาสก้าวหน้าในการงานก็จะมากยิ่งขึ้นค่ะ



นักบัญชี เจ้าหน้าที่ทางการเงิน (Accountant)

แทบจะทุกองค์กรต้องมีเจ้าหน้าที่การเงิน และบัญชี ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร บริษัทประกัน บริษัทเอกชน หรือรัฐบาล หลัก ๆ เลยคือทำหน้าที่จัดการงบประมาณ จัดทำ รวบรวมเอกสารทางบัญชี บันทึกรายงานการเงินและงบการเงินต่าง ๆ วิเคราะห์และร่วมวางแผน รวมไปถึงตรวจสอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเงินของบริษัท



ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)

ผู้สอบบัญชีรับอนุญาติจะมีหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารการจัดทำรายงานการเงินของบริษัทต่าง ๆ เพื่อรวบรวมหลักฐานจากการตรวจสอบที่เหมาะสมและเพียงพอเพื่อการแสดงความเห็นต่อความถูกต้องและครบถ้วนของรายงานการเงินของบริษัท อาชีพนี้รายได้ดีเป็นที่ใฝ่ฝันของนักบัญชีหลายคน แต่ถ้าอยากทำอาชีพนี้น้อง ๆ ต้องสอบด้วยนะคะ จะมีคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เป็นผู้ออกระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์การปฏิบัติงานการตรวจสอบบัญชี เพื่อกำกับควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต



ที่ปรึกษาทางบัญชี

อาชีพนี้จะเป็นการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำด้านการบัญชีการเงิน เกี่ยวกับด้านบัญชีและภาษี อาจมีหน้าที่จัดทำ แก้ไข วางระบบ และตรวจสอบบัญชีและภาษีภายในอางค์กรเพื่อให้การดำเนินงานอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน อาชีพนี้สามารถเป็นทั้งอาชีพอิสระและทำงานในองค์กรด้านนี้โดยตรง ซึ่งก็เป็นอีกสายงานที่มีรายได้สูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ



นักบัญชีต้นทุน (Cost Accountant)

ก็จะมีหน้าที่แจงต้นทุนสินค้าและการบริการ คอยกำหนดและควบคุมต้นทุนของสินค้าและการผลิต หรืออาจจะเป็นที่ปรึกษาในการวางแผนต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตสินค้าหรือบริการได้อีกด้วยนะคะ



คุณครู อาจารย์ หรือติวเตอร์ด้านบัญชี

พอเราจบมามีความรู้แล้ว นอกจากงานด้านบัญชีโดยตรงแล้ว เราสามารถนำความรู้ที่มีไปถ่ายทอดต่อให้ผู้อื่นได้ด้วย เราสามารถเป็นอาจารย์หรือติวเตอร์ในสถาบันการศึกษาได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้ที่จะเป็นอาจารย์ไม่จำเป็นต้องจบครุศาสตร์แล้ว หรือเราสามารถเปิดเพจให้ความรู้ด้านบัญชีและขายคอร์สต่อก็ได้นะคะ ไว้สำหรับคนที่ต้องการใช้ความรู้ไปสอบต่อค่ะ



ธุรกิจส่วนตัว

บางคนจบมาอยากทำธุรกิจส่วนตัว ก็สามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปต่อยอดประกอบธุรกิจส่วนตัวได้ด้วยนะคะ เพราะน้อง ๆ ก็จะมีความเข้าใจในระบบการบริหารจัดการรายได้ต่าง ๆ เป็นอย่างดี โดยรายได้ก็จะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของธุรกิจนั้นเอง แต่ส่วนใหญ่การได้เข้าทำงานก่อนมาทำธุรกิจเองได้เก็บเกี่ยวความรู้ และบริหารงานมาแล้วพอสมควร ก็อาจจะทำให้ดีขึ้นนะคะ



พนักงานธนาคาร

ทุก ๆ ธนาคารก็จะมีผู้ที่ให้บริการด้านการเงิน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ การเปิด-ปิดบัญชี การลงทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ และคอยให้ความรู้ลูกค้า



ข้าราชการ

ถ้าใครอยากไปสายราชการก็สามารถทำได้เช่นกันนะคะ แต่น้อง ๆ ต้องเริ่มจากสอบ ก.พ. หรือสอบตรงก่อน ถึงสามารถเข้าทำงานได้ โดยในหน่วยงานราชการก็สามารถเป็นทั้งนักบัญชี ผู้อำนวยการบัญชี นักวางแผนการเงิน นักวิเคราะห์การเงิน หรือตำแหน่งอื่น ๆ อีกมากมาย ข้อดีคืองานราชการก็คือความมั่นคง สวัสดิการดี ถ้าอยู่ทำงานไปจนถึงเกษียณก็มีเงินบำนาญอีกด้วยค่ะ


เป็นยังไงกันบ้างคะน้อง ๆ สำหรับบทความด้านอาชีพที่พี่สรุปมาให้ หวังว่าน้อง ๆ จะชอบนะคะ และสำหรับน้อง ๆ ที่กำลังวางแผนเรียนต่อมหาวิทยาลัย พี่ขอฝากสถาบันกวดวิชา Uniprep Tutor ไว้ด้วยนะคะ ส่วนบทความหน้าพี่จะเอาความรู้ดี ๆ อะไรมาฝากน้อง ๆ อีก ฝากติดตามไว้ด้วยนะคะ หรือถ้าอยากให้พี่เขียนบทความอะไรเพิ่มเติมก็สามารถแจ้งมาได้เลยนะ